ภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำบลคลองกวาง
อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
ภูมิปัญญาทำให้ชาติและชุมชนผ่านพ้นวิกฤติและดำรงความเป็นชาติ หรือชุมชนได้
ภูมิปัญญาเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและความดีงามที่จรรโลงชีวิตและวิถีชุมนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมได้อย่างกลมกลืนและสมดุล
ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานการประกอบอาชีพและเป็นรากฐานการพัฒนาที่เริ่มจากการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง การพัฒนาเพื่อการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และการพัฒนาที่เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้สากลบนฐานภูมิปัญญาเดิม เพื่อเกิดเป็นภูมิปัญญาใหม่ที่เหมาะสมกับยุคสมัย
ดังนั้น ภูมิปัญญาจึงมีคุณค่าไม่เพียงแต่ต่อท้องถิ่นและผู้คนเท่านั้น แต่ยังเอื้อประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ตำบลคลองกวาง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายอย่างที่ชาวบ้านใช้ประกอบเป็นอาชีพเสริม แต่มิได้ทำกันเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ใครมีวัตถุดิบอะไรก็นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เอง หรือขายเอง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ประชาชนยังนิยมทำขายหรือทำขึ้นเพื่อใช้เอง
ขนมต้มทอด
ขนมต้มทอดเป็นขนมพื้นบ้านของจังหวัดสงขลา ซึ่งใช้ในประเพณี-วันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาพุทธ เช่นประเพณีสารทเดือนสิบ ทุกครัวเรือนจะทำขนมต้ม เพื่อนำไปไหว้บรรพบุรุษที่วัด และนำไปให้คนเฒ่าคนแก่ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ทำให้ขนมต้มที่ลูกหลานนำมาให้มีจำนวนมากรับประทานไม่หมดจึงคิดค้นการทำให้ขนมต้มไม่ให้บูดเน่า จึงนำขนมต้มไปทอดกรอบเพื่อเป็นการถนอมอาหารจะได้เก็บไว้รับประทานได้นานๆ
วิธีการทำขนมต้มทอด
1. นำข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาด
2. คั้นน้ำกะทิใส่กะทะตั้งไฟ
3. นำข้าวเหนียวมาผัดกับน้ำกะทิ โดยใช้ไฟปานกลาง
4. ใส่เกลือ 1 กำมือ(หลวมๆ) /ข้าวเหนียวหนึ่งกิโลกรัม
5. ผัดจนน้ำกะทิแห้งแล้วนำมาห่อใบกะพ้อเสร็จแล้วนำไปต้มจนสุก(ใส่น้ำไม่ต้องเยอะ)
6. เอาต้มที่สุกแล้วผ่าเป็นชิ้นบางๆ นำไปทอดจนกรอบรอให้เย็นบรรจุใส่ถุงหรือภาชนะให้สนิทเพื่อเก็บไว้ให้คงความกรอบไว้นานๆ
ผู้ผลิต กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาปรัง หมู่ที่ 1 และชาวบ้านทั่วไปตำบลคลองกวาง อ.นาทวี จังหวัดสงขลา
การแกะหนังตะลุง
วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์
การแกะหนังเป็นงานหัตถกรรมทำเฉพาะรูปสำหรับเชิดในการเล่นหนังตะลุงในปัจจุบันมีการพัฒนาในการแกะหนังเป็นรูปหนังใหญ่ รูปจับเพื่อใช้ตกแต่งภายในอาคารบ้านเรือน
อุปกรณ์การแกะหนัง
1. หนังวัว หนังควาย หนังแกะ หนังแพะ
2. กรอบไม้สี่เหลี่ยมสำหรับตากหนัง
3. แบบลายภาพ
4. เครื่องมือตอกและสลักลาย ได้แก่ เขียง มีดปลายแหลม มีดปลายมน ตุ๊ดตู่ ค้อน เทียนไข
5. หมึกสีจากสีธรรมชาติหรือสีวิทยาศาสตร์
6. น้ำยางใสหรือน้ำมันเคลือบเงา
ขั้นตอนการแกะหนัง
การแกะหนังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความชำนาญในการผลิต มีขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมหนัง โดยนำหนังวัวหรือหนังควาย ขณะเป็นหนังสดมาขึงกับกรอบไม้สี่เหลี่ยม ตากให้แห้งแล้วนำหนังไปฟอก ขูดส่วนที่เป็นพังผืดออกให้หนังมีความหนาบางเท่ากันแต่ในปัจจุบันนิยมใช้หนังสำเร็จรูปฟอกแล้วจากโรงงาน
2. ร่างภาพ วาดลวดลายที่ต้องการตามแบบลายภาพลงบนแผ่นหนัง ที่นิยมได้แก่ตัวละครในเรื่องของหนังตะลุง เช่น ฤาษี พระอิศวร รูปพระ รูปนาง รูปยักษ์ และตัวตลก ส่วนรูปที่ใช้ประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือนได้แก่ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์
3. แกะฉลุ การแกะฉลุต้องใช้ความชำนาญและพิถีพิถันมาก โดยใช้เครื่องมือตอกและสลักลายขณะแกะเครื่องมือควรชุบเทียนไขบ่อยๆ เพื่อให้หล่อลื่น
3.1 ใช้ตุ๊ดตู่ตอกสลับลายตามเส้นลวดลายที่ร่างภาพไว้
3.2 การขุดเป็นกนกซึ่งเป็นตัวลายจะใช้ เขียงไม้อ่อนรองหนังแล้วกดปลายมีดไปตามจังหวะลวดลายแต่ละตัว
3.3 การทำเป็นดอกลายต่างๆ และการเดินเส้นประ โดยใช้ค้อนตอกตุ๊ดตู่ ซี่ตุ๊ดตู่จะใช้ตามลักษณะของปากตุ๊ดตู่แต่ละแบบ โดยใช้เขียงไม้แข็งรองหนัง
3.4 การขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอก หลังจากการแกะฉลุส่วนภายในของตัวรูปเสร็จแล้วจะได้รูปหนังแยกออกเป็นตัว
4. การลงสีรูปหนัง ขึ้นอยู่กับลักษณะรูป และประโยชน์การใช้สอย รูปหนังสำหรับเชิดเล่นหนังตะลุงต้องการความเด่นสะดุดตา ช่างจะเลือกใช้สีฉูดฉาด และเป็นสีโปร่งแสง
5. ลงน้ำมันเคลือบเงา จะลงน้ำมันเคลือบหรือไม่ก็ได้ เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ผู้ผลิต นายพิณ ทวีจันทร์ ที่อยู่ หมู่ที่ 6 ต.คลองกวาง อ.นาทวี จ.สงขลา
สะตอดอง
สะตอเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่เพียงแต่ชาวใต้เท่านั้นที่รู้จักกันและนิยมบริโภค แต่ยังเป็นที่โปรดปรานของใครหลาย ๆ คนด้วยเป็นแน่ แม้จะไม่เป็นที่แพร่หลายนักด้วยธรรมชาติและกลิ่นเฉพาะตัวที่อาจจะไม่ถูกชะตากับบางคน แต่ก็มีวิธีที่สามารถทำให้รสชาติอันเผ็ดร้อนลดลงไดโดยกรรมวิธีเดียวกับการถนอมอาหารจำพวกพืชผักทั่วไป คือการนำมาทำสะตอดอง
การแปรรูปสะตอดองทำได้ 2 แบบคือ แบบแรกเป็นสะตอที่ดองทั้งฝักเวลาขายจะมัดรวมกันขายเป็นพวง ๆ ไปและอีกแบบเป็นสะตอดองเฉพาะเมล็ด แบบนี้จะเป็นการแกะเอาเมล็ดสะตอออกมาจากฝักหลังจากต้มด้วยน้ำร้อนเสร็จแล้ว เวลาขายจะบรรจุถุงหรือขวด เคล็ดลับการทำสะตอดองให้กรอบอร่อย คือ จะต้องใช้สะตอฝักสอที่แก่จัด เมล็ดใหญ่สีของฝักสะตอต้องสวย ผิวเรียบ ฝักตรง เมล็ดต้องตึง แข็งจากนั้นก็เอามาต้มน้ำต้องเดือดเต็มที่จากนั้นก็นำมารีดเมล็ดออก แต่ถ้าต้องการดองทั้งฝักก็นำไปใส่ในไหหรือหม้อดองกับน้ำผสมเกลือประมาณครึ่งเดือน แล้วเปลี่ยนน้ำ โดยต้องนำสะตอมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาดแล้วนำไปดองน้ำเปล่าผสมน้ำตาลทราย อีกประมาณ 15 วัน จะได้สะตอดองที่มีรสชาติออกเปรี้ยวนิด ๆ กลิ่นหอมอร่อย เมล็ดกรอบ สามารถวางขายได้
ผู้ผลิต กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาปรัง หมู่ที่ 1 และชาวบ้านทั่วไปที่มีทรัพยากร ตำบลคลองกวาง อ.นาทวี จ.สงขลา
ไม้กวาดดอกหญ้า
ตามสภาพภูมิศาสตร์ของตำบลคลองกวางทำให้พืชพรรณธรรมชาติเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะต้นดอกหญ้าซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำไม้กวาดดอกหญ้าดังนั้นชาวบ้านนาปรังจึงทำไม้กวาดเพื่อจำหน่ายเพื่อเป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่งให้กับครอบครัวและชุมชนในตำบลคลองกวางเพราะไม้กวาด เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ภายในครอบครัว แม้ปัจจุบัน บางบ้านได้นำ เครื่องดูดฝุ่นเข้ามาใช้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีบ้านและสถานที่ต่าง ๆ อีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการใช้ไม้กวาด อุปกรณ์การทำไม้กวาดดอกหญ้า
1. เข็มเย็บกระสอบ
2. เชือกฟาง
3. ไม้ไผ่ ความยาวประมาณ
4. ดอกหญ้า
5. ตะปูขนาด
ขั้นตอนการทำไม้กวาด
1.นำดอกหญ้ามาทำความสะอาดและตากแดดให้แห้งคัดเลือกเฉพาะดอกหญ้าที่มีคุณภาพ ดี
2. นำดอกหญ้าปริมาณ 1 กำมือ มัดให้เป็นวงกลม
3. นำเข็มเย็บกระสอบ ซึ่งร้อยเชือกฟางไว้แล้ว แทงเข้าตรงกลางมัดดอกหญ้า แล้วถักขึ้นลงแบบหางปลา ให้ได้ 3 ชั้น พร้อมจัดดอกหญ้าให้มีลักษณะแบน
4. ตัดโคนดอกหญ้าให้เสมอกัน
5. นำด้ามไม้ไผ่เจาะรูที่หัวไว้สำหรับห้อยเชือกและเจาะรูตรงปลายนำมาขัดด้วยก้อนจากนั้นเสียบเข้าตรงกลางมัดดอกหญ้า
6. นำเชือกฟางมัดดอกหญ้าไว้ด้วยกัน โดยนำเชือกฟางมาสอดตรงรูที่เจาะเพื่อป้องกันไม่ให้ดอกหญ้าออกจากกัน
7. ตอกตะปูที่เตรียมไว้ เพื่อให้ดอกหญ้าติดกับด้ามไม้ไผ่ และมีความแข็งแรงขึ้น
* เคล็ดลับทำให้ไม้กวาดแข็งแรง ควรนำดอกหญ้าตากแดดให้แห้งสนิทก่อนมัด จะได้
ไม้กวาดที่มีความแข็งแรง ไม่หลุดง่าย เมื่อถึงเวลาใช้งาน
ผู้ผลิต นายคิ้ม ขวัญสง่า ที่อยู่ หมู่ที่ 2 และชาวบ้านทั่วไปที่มีทรัพยากร ต.คลองกวาง อ.นาทวี จ.สงขลา
ทุเรียนกวน
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่นิยมนำมากวน เพราะรสชาติหวาน มัน กลิ่นหอม เนื้อละเอียดเหนียว สีเหลืองสวย ไม่ดำคล้ำ ซึ่งใช้เวลาในการกวนโดยวิธีแบบตามภูมิปัญญาชาวบ้านหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการใช้แรงงานคนนั้นใช้เวลากวนประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง ทุเรียนก็จะมีสีเหลือง เหนียว มันหอม หวานและดูน่ารับประทาน
การทำงานของกระบวนการผลิตทุเรียนกวน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน
วัสดุอุปกรณ์ในการทำทุเรียนกวน
1. กะทะกวน
2. เตาแก๊ส หรือถ่าน
3. ช้อนสำหรับขูดเนื้อทุเรียน
4. ไม้พายสำหรับกวน
5. ตาชั่ง
ขั้นตอนการทำทุเรียนกวน
1. แกะเนื้อทุเรียนสุกออกจากเปลือกและเมล็ด
2. ขูดแยกเมล็ดทุเรียนออกจากเนื้อทุเรียน
3. ชั่งน้ำหนักเนื้อทุเรียน
4. ใส่ในกระทะเหล็กหรือสเตนเลสใช้ไฟปานกลางกวนด้วยไม้พายจนเนื้อทุเรียนสุก
5. ใส่น้ำตาลทรายกวนต่อไปจนเริ่มเหนียว
6. พอจับตัวเป็นก้อน ลดไฟให้อ่อน กวนต่อจนเหนียวเริ่มมัน จึงจะถือว่าใช้ได้
หมายเหตุ เนื้อทุเรียน 10 ก.ก. ใส่น้ำตาลทราย 2 ก.ก.
ข้อดีของการทำทุเรียนกวนขาย
*** สามารถขายได้ตลอดปี เมื่อถึงช่วงทุเรียนก็จะกวนเก็บไว้ในปี๊บสะสมไว้พอหมดช่วงทุเรียนก็สามารถนำมาแพ็คขายได้ ไม่ขาดช่วง
เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำชนิดต่างๆ
ชุดดักปลา
ชุดดักปลาเป็นเครื่องมือใช้สำหรับดักปลาน้ำจืด ลักษณะเป็นตาข่ายยาวประมาณ
วิธีการใช้
เริ่มจากการนำชุดที่ผูก" จับปิ้ง " ไว้เรียบร้อยแล้วไปวางไว้ที่ช่องทางที่ปลาผ่านแล้วเรียวไม้เล็ก ๆ จำนวน 2 อัน ไปเสียบตรึงปากชุดไว้กับพื้นเพื่อให้ชุดอยู่คงที่และใช้ปลาย " สายเลี้ยง" ผูกไว้กับหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาที่ติดชุดนั้นดันชุดไประยะทางห่างจากที่ สำหรับวิธีการเอาปลาออกจากชุด จะเอาออกโดยการเปิดช่องที่ส่วนท้าย ( จับปิ้ง ) ของชุดแล้วดันปลาให้ออกห่างช่องนั่น
ชนาง
ชนาง หรือ นาง เป็นเครื่องมือในการประมง ใช้จับกุ้งและปลาน้ำจืด ลักษณะปากกว้างก้นสอบ ลึก มีขอบ ตัวชนางกรองด้วยซี่ไม้ไผ่เล็ก ๆ ชนางมีขนาดต่าง ๆ กันคือขนาดเล็กสุดมีความจุประมาณ 1